112
อันตรายจาก การอดอาหาร ส่งผลเสียสุขภาพอย่างไร ?
หลายคนอาจจะมองข้ามอันตรายจาก การอดอาหาร โดยเฉพาะในยุคปะจจุบัน ที่ผู้คนหันมาสนใจการดูแลรูปร่าง การลดน้ำหนักอย่างรวดเร็วก็มักจะเป็นเป้าหมายหลักที่คนส่วนใหญ่จะตั้งเป้าไว้ โดยหลาย ๆ คนอาจจะใช้วิธีการอดมื้อกินมื้อ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในสังคมอย่างน่าเป็นห่วง วิธีการลดน้ำหนักนี้ฟังดูน่าสนใจในระยะสั้น แต่อาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพในระยะยาวได้ ในแต่ละวันร่างกายของมนุษย์ต้องการสารอาหารที่เพียงพอและสมดุลเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตในแต่ละวัน การบริโภคอาหารที่จำเป็นสำคัญอย่างมากสำหรับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของร่างกาย
การข้ามมื้ออาหารและการรับประทานอาหารตามเทรนด์อาจส่งผลให้เราได้รับสารอาหารไม่เพียงพอและอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจ
ผลกระทบต่อร่างกาย
- การข้ามมื้ออาหารและการอดอาหารมีความเสี่ยงต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง ร่างกายมนุษย์ต้องการพลังงาน วิตามิน และแร่ธาตุจำนวนหนึ่งเพื่อรักษาสุขภาพและคงการทำงานหลักของอวัยวะสำคัญในร่างกาย หากเรางดมื้ออาหารหรือรับประทานอาหารที่มีแคลอรีน้อยจนเกินไป ร่างกายของเราจะปรับโหมดเข้าสู่ภาวะอดอาหารได้ เนื่องจากร่างกายกำลังคิดว่าตัวเรานั้นกำลังจะอดตาย ซึ่งจะนำไปสู่ผลเสียที่ตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง การรับประทานอาหารที่ผ่านการแปรรูปสูงและคุณค่าสารอาหารต่ำสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพด้านต่างๆ ได้เช่นกัน
- หนึ่งในความเสี่ยงหลักของการอดอาหารเรื้อรังคือภาวะการขาดสารอาหาร ร่างกายต้องการสารอาหารที่จำเป็น เช่น วิตามินที่ร่างกายไม่สามารถสร้างเองได้ เกลือแร่บางชนิด และโปรตีนที่ช่วยซ่อมแซมกล้ามเนื้อเพื่อรักษาสภาพการทำงานของร่างกายให้เหมาะสม การงดมื้ออาหารและการทำไดเอทตามกระแสสังคมที่ผิดวิธีอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็นเหล่านี้ ซึ่งนำไปสู่ปัญหาสุขภาพต่างๆ ตัวอย่างเช่น การได้รับแคลเซียมไม่เพียงพออาจนำไปสู่โรคกระดูกพรุน ในขณะที่การขาดธาตุเหล็กอาจส่งผลให้เกิดโรคโลหิตจาง และภาวะต่าง ๆ เช่นอาการอ่อนแรง อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ ฯลฯ
- การข้ามมื้ออาหารและการอดอาหารอาจทำให้น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็วและไม่ดีต่อสุขภาพ เมื่อเราลดปริมาณแคลอรี่ลงอย่างฉับพลัน ร่างกายอาจตอบสนองด้วยการชะลออัตราการเผาผลาญเพื่อประหยัดพลังงานที่สำคัญไว้ เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งเหล่านี้สามารถนำไปสู่การสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและทำให้น้ำหนักลดน้ำหนักได้ยากขึ้น นอกจากนี้เมื่อคนๆ หนึ่งลดน้ำหนักเร็วเกินไป ก็มีแนวโน้มที่จะได้น้ำหนักกลับคืนมาเท่าเดิมหรือที่เราเรียกว่าโยโย่เอฟเฟกต์ ซึ่งนำไปสู่วงจรอุบาทว์ของการอดอาหารเรื้อรังและน้ำหนักที่สวิงขึ้นลงแบบหยุดไม่ได้
- ความเสี่ยงที่ร้ายแรงที่สุดอย่างหนึ่งของการอดอาหารคือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เมื่อร่างกายอดอาหาร ร่างกายจะตอบสนองโดยการหลั่งฮอร์โมนความเครียด อย่างคอร์ติซอล ซึ่งนำไปสู่ความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจได้ การอดอาหารสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระดับคอเลสเตอรอล รวมทั้งการลดระดับ HDL ที่จำเป็นต่อหลอดเลือดแดง ซึ่งสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจได้
ผลกระต่อพฤติกรรมและสุขภาพจิต
- การอดอาหารอาจนำไปสู่ความผิดปกติของนิสัยการกินได้เช่นกัน เมื่อคนๆ หนึ่งคิดหมกมุ่นกับการบริโภคอาหาร พวกเขาจะเกิดความเครียด ซึ่งนำไปสู่ความผิดปกติของการกิน เช่น โรคอะนอเร็กเซียและบูลิเมีย ความผิดปกติเหล่านี้อาจส่งผลร้ายแรงต่อสุขภาพจิตและร่างกาย รวมถึงภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ขาดสารอาหาร ฯลฯ
- นอกจากนี้การอดอาหารอาจนำไปสู่ความคิดลบต่อตนเอง ซึ่งส่งผลต่อการเห็นคุณค่าในตนเองที่ต่ำลงและอาจทำให้เกิดภาวะเครียด ซึมเศร้า หรือวิตกกังวลได้ อีกทั้งยังสามารถนำไปสู่การพัฒนารูปแบบการรับประทานอาหารที่ผิดวิธี เช่น การกินแล้วล้วงคอให้อ้วกออกมาเพื่อลดน้ำหนัก